ทำไมเดี๋ยวนี้ละคร Sitcom มีน้อยลง

จู่ ๆ ในวงสนทนาก็มีคำถามว่า ทำไมยุคนี้เราถึงเห็นซีรี่ส์แนวซิตคอมน้อยลงไปมาก ซึ่งเพื่อให้เห็นภาพแบบเร็ว ๆ เราไม่มีซีรี่ส์ที่ได้รับความนิยมแบบ Friends อีกเลยในช่วง 10 ปีมานี้ และมากกว่านั้น แม้แต่ซีรี่ส์ที่ดำเนินเรื่องแบบซิตคอมอย่าง Friends ก็แทบไม่มีเช่นกัน

อธิบายเพิ่ม: ซิตคอม มาจากคำว่า situation comedy โดยรูปแบบที่เข้ากับนิยามที่พูดถึงอย่าง Friends คือละครที่ถ่ายทำในสตูดิโอปิด มีผู้ชมในห้องส่ง แทรกเสียงหัวเราะ ถ่ายทำแบบมุมมองด้านเดียว (คือคนดูในห้องส่ง) ความยาวต่อตอนมักอยู่ที่ 30 นาที รวมโฆษณา

สิ่งที่เห็นคือซีรี่ส์หมวด Comedy ในยุคนี้ ปรับรูปแบบมาเป็นซีรี่ส์ถ่ายทำแบบซีรี่ส์ประเภทดราม่า คือมีฉาก สถานที่ ที่กว้างมากขึ้น ไม่มีเสียงตลกแทรก แต่เนื้อเรื่องก็ยังจัดเป็นหมวดตลกอยู่ดี

มีบทความใน The Guardian และ The Conversation ที่พอจะอธิบายได้ว่าเกิดอะไร ก็จะลองสรุปมาดู

ประเด็นแรก คนมักโทษที่สตรีมมิ่งซึ่งทำให้คนดูเปลี่ยนวิธีเสพคอนเทนต์ แต่ผู้เขียนมองว่า สตรีมมิ่งเองก็มีซิตคอม แต่เป็นการซื้อซิตคอมเก่า ๆ มาลง ไม่มีเรื่องใหม่ ความจริงคือ หลังยุค Friends ตัวรายการแนวซิตคอมเองก็ได้รับความนิยมน้อยลงด้วย หมวดรายการหนึ่งที่เข้ามาแทนที่คือเรียลลิตี้ แล้วรายการหมวดนี้ ก็ตอบโจทย์ทางธุรกิจ เพราะไม่ต้องพึ่งพาทีมเขียนบทแบบที่ซิตคอมต้องมี

ปัจจัยเรื่องวิธีเสพคอนเทนต์ อาจมองในแง่ซิตคอมต้องใช้การปูเนื้อเรื่องต่อเนื่อง ทำให้หนึ่งซีซั่นต้องผลิตด้วยจำนวนตอนที่เยอะ ขณะที่ซีรี่ส์สมัยใหม่นั้น หนึ่งซีซั่นมีมากกว่า 10 ตอน ก็เรียกว่าเยอะมากแล้ว (Friends 1 ซีซั่น อยู่ที่ 20-24 ตอน) ปัญหานี้จึงวนกระทบทั้งวงการ นักแสดงก็มีทางเลือกรับงานที่ใช้เวลาผลิตสั้นลง ทำไมต้องมาอยู่กับซิตคอม

สุดท้ายคือ ‘วิธีที่คนตลก’ ซึ่งทำให้โครงสร้างเล่าเรื่องแบบซิตคอมไม่เข้ากับยุคสมัยแบบแต่ก่อน การเกิดของซีรี่ส์ประเภทลูกผสมเรียกว่า Dramedy มีมากขึ้นและได้รับความนิยมมากกว่า อาจเพราะคนดูรู้สึกจริงกับมัน ซึ่งผู้เขียนบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะการมาของโซเชียล ที่มีแก๊กตลกอยู่ตลอดเวลา วิธีเล่นตลกแบบซิตคอมที่มาตบเป็นฉาก ๆ จึงไม่โดดเด่นอีกต่อไปแล้วนั่นเอง