TNP ธนพิริยะ หุ้นไอพีโอร้านค้าปลีกจากเชียงราย

ช่วงปลายปีมีหุ้นไอพีโอเข้ามาให้นักลงทุนได้เลือกเยอะ แถมธุรกิจหลากหลาย หุ้นตัวล่าสุดที่จะเข้ามาซื้อขายชื่อว่า บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) ตัวย่อ TNP โดยจะเข้ามาในตลาด mai พร้อมจุดขายว่าเป็น “ร้านค้าปลีกท้องถิ่น ที่เข้าตลาดหุ้นรายแรกในไทย”เราได้ยินสตอรี่ว่าในธุรกิจค้าปลีกมีแต่รายใหญ่กินรายเล็ก มีแต่ทุนต่างชาติบุกฮุบทุกพื้นที่ ค้าปลีกท้องถิ่นแข่งขันเหนื่อย เช่นนั้นแล้วธนพิริยะมีจุดขายอะไร เช่นเคย มาดูข้อสรุปจากไฟลิ่งกันครับ

ภาพรวมธุรกิจ

ธนพิริยะทำธุรกิจ ค้าปลีก และค้าส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีอาหารสด ชื่อว่า “ธนพิริยะ” ในจังหวัดเชียงราย แบ่งเป็น ซุปเปอร์มาร์เก็ต 11 สาขา และศูนย์ค้าส่ง 1 สาขา โดยมีความหลากหลายของสินค้าถึงกว่า 15,000 SKUs แบ่งได้เป็น 5 หมวดสินค้าตามมาตรฐานดังนี้

ร้านธนพิริยะทั้งหมด แบ่งเป็นร้านไซส์เล็กซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกมี 11 สาขา ในอำเภอเมือง (6 สาขา) และต่างอำเภอคือ อำเภอแม่สาย (1 สาขา) อำเภอแม่จัน (2 สาขา) อำเภอเวียงป่าเป้า (1 สาขา) และอำเภอพาน (1 สาขา) และร้านค้าส่งอีกหนึ่งแห่งในอำเภอเมือง

เสี่ยตันก็เคยมาแจกเบนซ์ให้ผู้โชคดีในเชียงราย ที่หน้าร้านธนพิริยะ

เนื่องจากธนพิริยะ เป็นร้านค้าปลีกที่มีในเชียงรายเท่านั้น ไฟลิ่งก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจภาพการแข่งขันของค้าปลีกในเชียงรายมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่ามีบิ๊กเนมมาเปิดร้านแข่งด้วยจำนวนสาขาที่เยอะทีเดียว

พอเป็นร้านค้าปลีก อีกประเด็นที่น่าสนใจคือที่ดิน ซึ่งมีไม่กี่สาขาที่เป็นที่ดินโฉนดของบริษัท ส่วนใหญ่เป็นที่ดินเช่าครับ

งบการเงิน

เริ่มด้วยงบ 3 ปีย้อนหลัง (55-57) ความน่าสนใจคือธนพิริยะ เป็นบริษัทที่มีรายได้จากค้าส่งมากถึง 1 ใน 3 และมีรายได้เพิ่มทุกปีจากการเปิดสาขาเพิ่ม (แต่อย่าลืมว่าร้านค้าส่ง มีสาขาเดียวก็เพิ่มด้วย)

ในภาพรวมของงบการเงิน มีจุดน่าสนใจดังนี้

  • อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ราว 10%
  • Net Profit อยู่ราว 2-3%
  • ยอดขายจากค้าส่งในปี 58 งวด 9 เดือนแรกลดลงมาก ขณะที่ส่วนค้าปลีกยังเติบโต โดยบริษัทอธิบายเพราะสาขาที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้าต่างอำเภอเข้ามาที่ร้านค้าส่งน้อยลง
  • วงจรเงินสดบริษัทเป็นบวก แตกต่างจากหุ้นค้าปลีกที่ค่านี้มักติดลบ ซึ่งแม้บริษัทจะรับเงินสด (ระยะเวลาเก็บหนี้ต่ำ) และจ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์แบบเครดิต (ระยะเวลาจ่ายหนี้ยาว) แต่บริษัทมีระยะเวลาขายสินค้าที่นานมากกว่า (ระยะเวลา Inventory) เลยทำให้วงจรเงินสดเป็นบวก
  • บริษัทไม่มีหนี้สินระยะยาวเลย มีแต่หนี้สินระยะสั้นเพื่อสภาพคล่อง
  • D/E ล่าสุดอยู่ที่ 1.0
  • มีการจ่ายปันผลรอบสุดท้ายของปี 57 ออกไป 60 ล้านบาท

ไอพีโอ

  • TNP ขายหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของหุ้นทั้งหมด
  • หลังการขายหุ้นไอพีโอ กลุ่มตระกูล พุฒิพิริยะ จะถือหุ้นใหญ่รวม 72.5%
  • ราคาขายต่อหุ้น 1.75 บาท พาร์ 0.25 BV 0.25 ราคานี้คิดเป็น P/E 40.17 เท่า (CPALL 38, MAKRO 35, BIGC 22) โดยบริษัทอิงตลาด mai ที่มี P/E ตลาด 58.49 เท่า ในการตั้งราคา
  • เงินเพิ่มทุนส่วนใหญ่เอาไปใช้ขยายธุรกิจ (3 สาขา + 1 ศูนย์กระจายสินค้า) อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนและชำระเงินกู้
  • หลักทรัพย์ RHB เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและอันเดอร์ไรท์

TNP เริ่มซื้อขายวันพุธที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ในตลาด mai หมวดบริการ ถึงตรงนี้ต้องปิดท้ายว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ