The Psychology of Money เป็นหนังสือที่ออกมาช่วงปลายปี 2020 ได้มาอ่านเพราะพี่ท่านหนึ่งแนะนำว่าเป็น a-must ในแง่การอ่านเพื่อทบทวนวิธีคิดของเราเอง
หนังสือเหมาะกับทั้งมือใหม่ในโลกการลงทุน และคนที่ลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้เข้าใจและรู้ทันจิตใจตนเองในการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล หนังสือเล่าเป็นตอนสั้น ๆ 20 บท (บทสุดท้ายเป็นเรื่องของผู้เขียนเอง) ว่าด้วยนิสัย พฤติกรรม ความจริง ในโลกการลงทุนการเงิน
ในบทแรก หนังสือย้ำว่าตามหลักการแล้ว คนเราควรลงทุน ตัดสินใจ กำหนดเป้าหมาย ตามแบบที่เหมาะกับแต่ละบุคคล แต่ความจริงคือคนส่วนใหญ่ก็เลือกทำตามคนอื่น และภาพนี้จะชัดมากในวิธีคิดมุมมองของคนแต่ละ Gen เพราะคนแต่ละรุ่นโตมากับการเห็นภาวะตลาดทุนที่ไม่เหมือนกัน
บทต่อมา ย้ำว่าโลกมักสนใจคนประสบความสำเร็จ การศึกษาแนวทางควรดูที่รูปแบบ สไตล์ จากนั้นจึงทำตาม ไม่ใช่วิธีการที่ยึดโยงเฉพาะบุคคล ในอีกบทพูดถึงความสุข โดยบอกว่าสมการคือ ความสุข เท่ากับ ผลลัพธ์ลบความคาดหวัง ปัญหาคือระบบทุนนิยม ผลักให้คนต้องไปข้างหน้าตลอด และยังต้องเปรียบเทียบกับ peer ด้วยกัน คำว่าพอแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย
ในหนังสือไม่พลาดที่จะพูดถึงพลังดอกเบี้ยทบต้น (Compound) ซึ่งย้ำว่าพลังของเวลานั้นมีค่ามาก Buffet เป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากเพราะลงทุนมานาน แม้ผลตอบแทนเฉลี่ยอาจไม่สูงเท่านักลงทุนรุ่นใหม่ในสิบปีให้หลัง แต่เวลาทำให้ผลตอบแทนมหาศาลกว่ามาก
ช่วงกลางหนังสือพูดถึงความสุขว่า เวลา คือสิ่งสำคัญ คนเรามีความสุขในชีวิตเมื่อเป็นผู้กำหนดควบคุมเวลาได้ นอกจากนี้ยังพูดถึงคำว่า รวย (Rich) กับ มั่งคั่ง (Wealth) ว่าเป็นคนละอย่าง คนรวยคือคนที่มีข้าวของมากมาย เป็นสิ่งภายนอกที่เห็นได้ แต่คนมั่งคั่งไม่ต้องแสดงให้เห็น แต่มีสินทรัพย์และความพร้อมในการจ่ายเมื่อถึงเวลาจำเป็น
บทที่ 12 Surprise! น่าจะอธิบายสิ่งที่ควรทบทวนในช่วงสองปีมากที่สุด โดยบอกว่าเรื่องคาดไม่ถึงจนส่งผลต่อตลาดทุนรวม เกิดขึ้นเป็นปกติ ยิ่งในยุค 10 ปีให้หลัง เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นบ่อยขึ้น เราควรเข้าใจว่าโลกนี้มีเรื่องคาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เป็นปกติ และทุกเรื่องคาดไม่ถึง จากหลายเรื่องอดีต จะเห็นว่าการใช้อดีตทำนายปัจจุบันและอนาคต ว่าจะซ้ำรอยเดิมก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ทุกแผนลงทุนจึงต้องเผื่อความผิดพลาดเอาไว้เสมอ