Pictogram

กีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 ในที่สุดก็ได้จัดขึ้นมาจนได้ (อีโควิดมึง…) ธีมหนึ่งที่โตเกียวนำมาเล่นซ้ำบ่อยครั้ง ตั้งแต่ช่วง pitch ขอเป็นเจ้าภาพ คือการเชื่อมสองช่วงเวลา ระหว่างการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อปี 1964 กับ 2020 และสิ่งหนึ่งที่โตเกียวหยิบมาเล่นคือ Pictogram

Pictogram หรือภาษาไทยเรียกตัวหนังสือแบบภาพ เป็นรูปแบบภาษาที่สื่อสารด้วยการวาดภาพสื่อความหมายกัน ซึ่งเราก็เห็นตั้งแต่หลักฐานในยุคโบราณ แต่ในยุคสมัยใหม่ Pictogram ถูกนำมาใช้งานแบบจริงจังทางการครั้งแรก คือโอลิมปิกที่ Tokyo ในปี 1964 (ดูรูป) เพื่อใช้หนึ่งภาพที่สื่อถึงกีฬานั้น ๆ และก็ถูกนำมาใช้ในทุกกีฬาโอลิมปิกเป็นต้นมา โดยปรับดีไซน์ลายเส้นตามธีมของปีนั้น

นับจากนั้น Pictogram ถูกนำมาใช้งานกับป้าย สัญลักษณ์ ซึ่งกลายเป็นภาษาสากล ใครเห็นก็เข้าใจได้ทันที มีมาตรฐานกลางด้วยคือ ISO 7001

พิธีเปิดโอลิมปิก 2020 (ที่จัดปี 2021) ก็นำความ Pictogram มาแสดงเป็นหนึ่งโชว์ที่ครีเอตตามสไตล์รายการที่คนไทยคุ้นชื่อว่าเกมซ่าท้ากึ๋น อันที่จริงก็ไม่คิดว่าเจ้าภาพญี่ปุ่นจะเอาประเด็น Pictogram มาขยายขนาดนี้ เพราะแม้แต่โดราเอม่อนตอนล่าสุดที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีเนื้อหาเข้าธีมโอลิมปิกที่จะมาถึง ก็พูดถึงประวัติศาสตร์ Pictogram ด้วยเช่นกัน