เหตุผลที่ไม่ควรมีเหตุผล หรือชื่อภาษาอังกฤษ The Upside of Irrationality ของ Dan Ariely เป็นงานของ Ariely ที่มีการแปลเป็นภาษาไทยออกมาเล่มล่าสุด (ส่วนเล่มล่าสุดจริงๆ The Honest Truth About Dishonesty เคยเขียนถึงไปแล้ว) เนื้อหาในเล่มนี้เหมือนเป็นภาคต่อจาก Predictably Irrational หรือชื่อไทย พฤติกรรมพยาการณ์ โดยเนื้อหาในเล่มยังคงยกเคสการกระทำและการคิดของมนุษย์ที่ไม่มีเหตุผลอย่างเป็น pattern มานำเสนอครับ
ในบทที่ 1 Ariely ยกกรณีศึกษาว่า การตกลงที่จะให้ผลตอบแทนการทำงานที่สูงมากเกินไป จะส่งผลลบให้งานออกมาไม่ดีเพราะคนทำงานรู้สึกกดดันต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น อัตราผลตอบแทนกับ output ที่ได้จึงไม่แปรผันตามกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ช่วยอธิบายถึงปัญหาการเงินการคลังที่ผ่านมาได้
บทที่ 3 พูดถึงร้านเฟอร์นิเจอร์อิเกียว่าทำให้คนเรารู้สึกดีเป็นพิเศษในงานที่เราได้มีส่วนร่วมทำมันขึ้นมากับมือ เช่นตู้หนังสือนั้นก็อาจมีมูลค่าทางใจสูงเป็นพิเศษสำหรับตัวเราเอง แม้คนอื่นจะมองว่ามันเป็นแค่ตู้หนังสือธรรมดาก็ตาม ความไม่สมเหตุสมผลนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่า การเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เติมเต็มส่วนของตนเองลงไปในงาน นั่นช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้มากขึ้น
บทที่ 5 พูดถึงความไร้เหตุผลอย่างมากเวลาเราต้องการแก้แค้น มีการทดลองที่พิสูจน์ว่าคนเรายอมทำทุกอย่าง แม้เป็นสถานการณ์ที่ Lose-Lose ก็ตามหากว่าเรารู้สึกว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
บทที่ 9 ยกกรณีของความรู้สึกที่คนเรามักอินกับดราม่าชีวิตคนเพียงคนเดียว รู้สึกสงสารอยากช่วยเหลือ มากกว่าจะรู้สึกอินกับการสูญเสียคนจำนวนมหาศาล (เช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงความไม่สมเหตุสมผลอีกอย่างของมนุษย์
ในหนังสือยังมีกรณีศึกษาอีกมาก ทั้งเรื่องไฟฟ้ากระแสสลับที่เอดิสันขัดขวางมาตลอดชีวิต เพียงเพราะเขายึดมั่นในไฟฟ้ากระแสตรงจนปิดกั้นความคิด หรือทฤษฎีว่าด้วยการค่อยๆ ช้อปปิ้งทีละน้อย จะทำให้เรามีความสุขมากกว่าซื้อเยอะๆ คราวนี้ตอนลดกระหน่ำ เป็นต้น
เป็นหนังสืออีกเล่มที่พูดถึงเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมได้น่าสนใจ และช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เห็นและเป็นไปรอบตัวได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้นครับ