หนังสือชื่อชวนท้าทายความคิดว่า “ทำไมเราเลี้ยง PIG แต่กิน PORK” เขียนโดย นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา (500 ล้านปีของความรัก) เปิดหัวกันแบบนี้ก็พาลนึกถึงตอนเด็กๆ เรียนอังกฤษไม่สงสัยบ้างเหรอว่า PIG คือหมู แต่ตอนจะกินเนื้อหมูต้องเรียก PORK แล้วทำไม FISH ไม่มีการแยกสองคำแบบนี้บ้าง?หนังสือเล่มนี้พาไปศึกษารากเหง้าที่มาที่ไปของคำศัพท์ภาษาอังกฤษต่างๆ เล่าในมุมมองของแพทย์ที่อ่าน textbook แล้วเจอคำแปลกๆ เยอะ ก็เลยไปค้นหาข้อมูลต่อว่าแต่ละคำมันมีที่มาแบบไหน มุมมองการเล่าในเล่มนี้จึงเป็นเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แนวนักภาษาศาสตร์
วิธีเล่าของหนังสือเล่มนี้ จะเล่าที่มาคำต่างๆ ไปเรื่อยๆ จบแต่ละบท ก็เชื่อมต่อบทถัดไป มีประวัติศาสตร์โลกยุโรปเป็นเบื้องหลังในหลายๆ คำที่อ่านสนุกดี เพลินๆ ประมาณรู้ไว้ใช่ว่า
ถ้าพูดรวมๆ ความแปลกของคำในภาษาอังกฤษที่ได้เห็น มักมีที่มาหลักคือ ตัวภาษาอังกฤษเอง ได้อิทธิพลจากภาษาฝรั่งเศสและละติน ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันหลายคำก็หยิบมาจากเอเชีย หรือบางทีก็เป็นการเมืองเพียงเพื่อทำให้ต่างกับ American English ที่แผ่อิทธิพลเยอะในตอนนั้น (แน่นอนว่าหนังสือมีเรื่องเล่าของคำที่หลายคนสงสัยอย่าง Football – Soccer ด้วย)
ตัวอย่างคำที่มีการพูดถึงในเล่มเช่น General แปลว่านายพลและทั่วไป, Bachelor แปลว่าชายโสดและปริญญาตรีได้ไง รวมถึงคำที่ใช้ตบมุกมาตรฐานกันทั่วไปคือ Right ที่แปลว่าถูกต้องและขวามือ (เพื่อรักษาอรรถรสก็ต้องบอกว่า รายละเอียดไปหาอ่านเอาเอง)
ชอบประวัติศาสตร์และที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ เล่มนี้ตอบสนองได้ดีเลย
หนังสือปิดท้ายด้วยข้อสงสัยของคำภาษาอังกฤษอย่าง Hamburger ที่ทำไมไม่มีแฮมในนั้น … ก็เป็นอันว่าคงมีเล่มสองต่อแน่นอน