[หนังสือ] The Power of Little Ideas ค้นหาวิธีการที่ 3 ในการตัดสินใจ

หนังสือชื่อ The Power of Little Ideas: A Low-Risk, High-Reward Approach to Innovation เขียนโดย David C. Robertson เล่มนี้เป็นหนังสือเครือ Harvard Business Review ครับ แต่อ่านง่ายดีนะหนังสือเล่มนี้เปิดประเด็นว่า ในโลกธุรกิจเวลาต้องการตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในยุคนี้ ทางเลือกก็คือ 1. ทำของเดิมให้ดีขึ้นกว่าเดิม กับ 2. Disrupt ไปเลยเริ่มใหม่หมด แต่ผู้เขียนบอกว่ามันยังมีอีกวิธีหนึ่งซึ่งเขาเรียกว่า The Third Way (ทางเลือกที่ 3) ซึ่งวิธีดังกล่าวก็เป็นที่มาของชื่อหนังสือนี้ นั่นคือการค้นหาวิธีที่ Low Risk but High Reward คือทำเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงไปไม่มากจากสิ่งที่ธุรกิจนั้นมีอยู่ ไม่ต้องลงทุนสูง ไม่เสี่ยงมากถ้าไม่ได้ผล แต่หากสำเร็จผลลัพธ์จะตอบแทนดี

หนังสือก็ร่ายวิธีการมา พร้อมยกตัวอย่างธุรกิจที่มองว่าใช้ Third Way นี้ อาทิ

LEGO เป็นเคสที่หนังสือยกถึงบ่อย บริษัทนี้เคยพยายาม Disrupt ตัวเองด้วยการทำเกมคอมพิวเตอร์ (มองว่าคนไม่ต่อเลโก้ ก็มาทำวิดีโอเกมซะ) แต่การตัดสินใจแบบนั้นเป็นการทำลายพื้นฐานธุรกิจ สุดท้ายบริษัทรอดได้จากการกลับสู่รากเหง้า เน้นการขายสินค้าตัวต่อแบบเดิม แล้วเพิ่มการใส่เรื่องราวให้กับสินค้า ออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง กรณีอย่าง Lego Movie ก็เป็นลักษณะ Low Risk เพราะบริษัทแทบไม่ต้องลงทุนทำหนังมากมาย แต่ขายสิทธิให้ Warner แล้วหวังทำเงินจากยอดขายของเล่นที่เป็นธุรกิจหลัก

Gatorade พยายามเป็นบริษัท Drink ทุกอย่างแต่ไม่ได้ผล สุดท้ายพบว่าสินค้าของตนตอบโจทย์นักกีฬา คนต้องการ Energy – Sport จึงไปทุ่มพัฒนาสินค้าหลักไม่กี่ตัว แล้วต่อยอดไปยังสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Energy – Sport แต่วิตามิน ซึ่งได้ผลดีมากกว่าเพราะมีทั้งแบรนด์ และฐานลูกค้าที่มี loyalty

Apple กรณีที่เป็น Third Way นั้นเป็นช่วงที่สตีฟ จ็อบส์กลับเข้ามารอบสอง ก่อนหน้า Apple ขายสินค้าวาไรตี้มาก มีผลิตภัณฑ์ไอทีครบทุกอย่าง สิ่งที่จ็อบส์เลือกคือตัดทุกอย่าง เลิกขาย มาเน้นให้ Mac เป็นศูนย์กลาง เพราะมองว่าเป็นหัวใจ แล้วค่อยทำสินค้าต่อเนื่องเพื่อเสริมความแข็งแกร่งสำหรับ Mac เช่น OSX, Software มาจนถึง iPod ที่ยุคแรกรองรับเฉพาะ Mac แต่เหตุการณ์หลังจากนั้น คือ iPhone หนังสือมองว่าเป็น Disrupt แล้วก็จะไม่พูดถึง

Victoria’s Secret ในตอนนั้นชุดชั้นในมีแข่งกัน 2 แบรนด์ สาเหตุที่ Victoria ชนะ เนื่องจากมาโฟกัสเรื่องอารมณ์ เน้นความเซ็กซี่, มีรสนิยม, มีสีสัน, มีคลาสแบบยุโรป จึงขยายไลน์สินค้าไปตัวอื่นได้โดยอิงกับเรื่องราวเหล่านี้ต่อ

เบียร์ไอร์แลนด์ยี่ห้อหนึ่ง กรณีนี้น่าสนใจ คือบริษัทมาพบว่าเบียร์ของตนมียอดขายดีขึ้นในยุโรป ไปสืบค้นก็พบมีคนทำผับสไตล์ไอริชมากขึ้น เลยต้องขายเบียร์ยี่ห้อเสริมกันจะได้ดูไอริชๆ บริษัทก็เลยปรับทิศมาผลักดันเรื่องนี้ซะเอง โดยทำตัวเป็น Consult การทำผับสไตล์ไอริชที่ถูกต้อง เพื่อให้ผับแนวนี้มีเกิดขึ้นไปอีก แล้ววนมาที่เบียร์ก็จะขายได้มากขึ้น

Valve เดิมเป็นผู้พัฒนาเกมขาย พอขายไปมาพบว่าตลาดเกมมีปัญหาใหญ่คือเรื่องช่องทางจำหน่าย ตั้งแต่ร้านเกมใส่กล่อง การออก Patch การออกภาคเสริม จึงพัฒนา Steam ขึ้นมาเพื่อให้การจัดจำหน่ายสะดวกมากขึ้น

ก็เป็นหนังสืออ่านเอาไอเดียอีกเล่มที่ดีเลยครับ