Hunger คนหิว เกมกระหาย

(เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในช่วงท้าย)

Hunger เป็นผลงานภาพยนตร์ไทยออริจินัลบน Netflix เรื่องล่าสุด ที่น่าจะเรียกว่าเป็นงาน cross ของจักรวาลคงเดช จาตุรันต์รัศมี (Where We Belong, Faces of Anne) โปรดิวเซอร์และผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเป็นการกลับมาร่วมงานอีกครั้งของคงเดช และผู้กำกับ สิทธิศิริ มงคลศิริ (แสงกระสือ ภาคแรก) ซึ่งเคยร่วมงานกันในซีรี่ส์ Folklore ตอน Broker of Death ทาง HBO ที่มีเจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ (Where We Belong) นำแสดง … เป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อวนกันไปมาดี

โปรเจกต์ Hunger น่าจะเป็นงานออริจินัลจากไทยที่ Netflix หวังผลอยู่มากทีเดียว เพราะหนังได้ dub เสียงพากย์ภาษาต่าง ๆ เพื่อขยายฐานคนดูทั่วโลก ทั้งภาษาอังกฤษ สเปน และอีกหลายภาษา อันนี้ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะงานออริจินัลที่คงเดชร่วมงานกับ Netflix ก่อนหน้านี้คือ เด็กใหม่ ซีซั่น 2 ประสบความสำเร็จมากทีเดียว ก็ต้องรอดูผลลัพธ์เพราะวันที่เขียน หนังยังฉายบนแพลตฟอร์มมาไม่ครบ 1 สัปดาห์

Hunger เล่าเรื่องราวของ ออย ลูกสาวร้านอาหารตามสั่ง (รับบทโดยออกแบบ ชุติมณฑน์ – ฉลาดเกมส์โกง, Faces of Anne … เห็นไหมว่าวนกันในจักรวาล) ที่ถูกเชิญไปร่วมทีม Hunger บริษัทรับจัด Private Dinner ให้กับลูกค้าชนชั้นสูงที่ดูแลโดยเชฟพอล (รับบทโดยปีเตอร์ นพชัย – Homestay, ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค2-6) ทำให้ออยคนพบโลกอีกใบ ที่ความหิวและกินเป็นอีกรูปแบบซึ่งไม่เคยเจอมาก่อน … จะว่าไป คงเดช ดูเหมือนจะชอบพลอตเรื่องเด็กสาวผจญภัยมาก ตั้งแต่ Where We Belong (นี่ก็ลูกสาวร้านก๋วยเตี๋ยว), เด็กใหม่ ก็ว่าด้วยนักเรียนหญิง หรือ Faces of Anne อันนี้ก็เรื่องของวัยรุ่นหญิง

ถ้าว่าตามตรง Hunger น่าจะเป็นหนังเสียดสีประเด็นชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งคือ topic ที่ผู้เขียนบท ดงเดช คงอยากเล่าตามสไตล์ผลงานที่ผ่านมา แล้วใช้การทำอาหารมาเป็นเส้นเรื่อง มากกว่าจะพูดว่าเป็นหนังว่าด้วยการทำอาหาร (นำมาซึ่งการถกเถียงของคนดูตอนนี้) ในอีกด้านหนังก็นำเสนอธุรกิจอาหารและตั้งคำถามบางอย่างที่น่าสนใจ การเล่าเรื่องหนักไปทางระทึกขวัญตลอดเรื่อง ซึ่งเป็นสไตล์เด่นของผู้กำกับ สิทธิศิริ จุดที่ชอบมากคือโปรดักชันดีไซน์ ภาพสวยงามตื่นตาในทุกฉาก เพลงประกอบก็ชวนให้ตื่นเต้นดีมาก พลังนักแสดงของออกแบบที่เป็นหญิงสาวสับสนกับโลกตรงหน้า แต่ก็อยากเป็นคนพิเศษ ขณะที่ปีเตอร์ มาในมาดเชฟพอลที่คีพลุกได้น่าเกรงขามทุกฉากที่ปรากฏตัว แม้แต่ฉากที่เป็นการคุยแบบเปิดใจกับออย ก็ยังคงความดุดันไว้ได้

(จากนี้เปิดเผยเนื้อหาในหนังบางส่วน)









เรามองว่าการดูหนังเรื่องนี้ เหมือนชมงานที่ inspire จากการ์ตูนจอมโหดกระทะเหล็กอยู่มาก หลายฉากให้ความรู้สึกเดจาวู แม้พลอตเรื่องจะคนละแบบเลย แต่ฉากการกินที่ดุเดือด กระหาย คลานเข่าแบบที่เชฟพอล นี่ก็ให้ความรู้สึกตอนกรรมการกินอาหารของอากิยามะจาง ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าหนังพยายามทำให้โลกอาหารเชฟพอลเกินจริง เพื่อข้ามเส้นบางอย่างที่เป็นประเด็นถกเถียงตอนนี้ แต่คนดูจะเห็นด้วยไหมนั่นก็อีกเรื่อง

หนังเปิด 10 นาทีแรก ด้วยฉากดินเนอร์งานเลี้ยงของเชฟพอล ท่าการกินล็อบสเตอร์จิ้มซอสสีชาร์โคล ที่ทำให้ไฮโซคนหนึ่ง กลายเป็นคนกินด้วยท่าทางแบบหิวโหย ก็น่าจะบอกกลาย ๆ ว่าหนังเกินจริงไปแต่ต้น สลับฉากถัดไปด้วยการดวลข้าวผัด ซึ่งน่าจะจดจำดีทั้งคนอ่านการ์ตูน หรือถ้ายุคนี้ก็คือคนดูรายการ Uncle Roger ย่อมรู้แนวทางดีว่าจะไปทางไหน หลายซีนอาหารเลยทำให้ดูไปก็งงไปว่าบริษัท Hunger รับงานยังไงกันแน่ โดยเฉพาะซีนดินเนอร์พ่อแม่ลูก และดินเนอร์ในป่า แต่นั่นแหละ พอคิดว่าบริษัทนี้มันไม่มีจริง อะไรก็ทำไปเถอะ… ขณะเดียวกันหนังก็เล่ากระบวนการได้มาของวัตถุดิบ ที่ทำให้ร้านนี้พิเศษด้วย เช่น ฉากไปกินข้าวกับหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งอันนี้เพื่อรองรับความพิเศษของร้าน Hunger กระมัง

พรีเซนเตชั่นสวยดีนะเราว่า

เมื่อช่วงต้นของหนังเปิดแบบนั้น ก็เลยทำให้คาดหวังเห็นซีนการนำเสนออาหารที่ไต่ระดับขึ้นเรื่อย ๆ แต่หนังก็ไม่ได้เน้นมากนัก พยายามเล่าเรื่องราวชนชั้นมากกว่า แม้จะมีปิดด้วยเมนูท้าย ๆ ที่เว่อวังดี ขณะเดียวกันทางลงของหนังก็น่าจะทำให้เซ็งอยู่เหมือนกัน (ขัดใจมากในภาพตอนยืนเรียงแถวรอกินผัดงอแงเนี่ย)

อย่างไรก็ตาม คิดว่าหนังได้พยายามเล่าสิ่งที่อยากเล่าในสไตล์ของคงเดชไปแล้ว ผ่านภาพเสียงการนำเสนอที่เว่อวังอลังการ (ขอบพระคุณพ่อบุญทุ่ม Netflix) รอดูกันต่อไปว่างานชิ้นนี้จะไปได้ไกลแค่ไหนครับ