The Woman in Me เป็นหนังสืออัตชีวประวัติของ Britney Spears ควีนออฟป๊อปในยุค 2000 ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวหลังจาก Britney ได้รับอิสรภาพ ยกเลิกคำสั่งถูกพิทักษ์ทรัพย์และการใช้ชีวิต หรือ Conservatorship ที่เป็นข่าวใหญ่ในปี 2021
ก่อนหนังสือกำหนดขายทั่วไป มีสื่อที่ได้ sample บางส่วน ออกมาเปิดเผยเนื้อหาไฮไลท์ไปบ้างแล้ว ซึ่งก็มีส่วนที่เซอร์ไพรส์อยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามหนังสือเป็นการเล่าจากมุมมองของ Britney ซึ่งจุดที่หนังสือย้ำหลายครั้งก็คือ ชีวิตในวงการกว่า 20 ปี ของเธอ เธอไม่ได้เป็นฝ่ายออกมาสื่อสารความคิด ความรู้สึกตรง ๆ เท่าใดนัก เพราะทั้งการถูกควบคุมชีวิต และภาพลักษณ์ที่ถูกกำหนดมาแต่ต้น หนังสือเล่มนี้จึงควรค่าแก่การใช้เวลาอ่านเพื่อรับทราบเรื่องราว ที่ Britney ต้องการสื่อสาร
(เนื้อหาต่อจากนี้ จะพยายามเล่าภาพรวม โดยไม่ลงรายละเอียดสำคัญ อยากให้ไปอ่านกันเอง)
หนังสือเล่าตามไทม์ไลน์ชีวิตของ Britney ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ Britney ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินดีนัก ภาพเด็กสาวบ้านนาใสซื่อจึงถูกฉาบไว้ตั้งแต่ช่วงแรก จุดเปลี่ยนแรกของ Britney คือการเป็นทีมนักแสดงใน Mickey Mouse Club ซึ่งทำให้ได้รู้จักดารา-นักร้องในอนาคตอีกหลายคน รวมทั้ง Justin Timberlake ที่หนังสือเล่าเรื่องของชายคนนี้หลายต่อหลายบทแบบดุเดือดทีเดียว
หนังสือใช้เวลาหลายส่วนเล่าถึงความสัมพันธ์ของ Britney กับคนในครอบครัว และผู้จัดการ ทีมงานคนสำคัญ ซึ่งล้วนมีบทบาทแง่ดีในบางเวลา แง่ลบก็มากหน่อยต่อชีวิต จุดหักเหถัดมาคือการเซ็นสัญญาเป็นศิลปิน และออกเพลงฮิต … Baby One More Time ซึ่งเรื่องน่าสนใจคือ MV ที่เป็นไอคอนแห่งยุคนั้น เดิมทีไม่ได้ต้องการทำออกมารูปแบบนี้ (คนละเรื่องเลยด้วย) แต่มาจากไอเดียของ Britney เอง ที่อยากให้เป็นภาพนักเรียนไฮสคูลและซีนเล่นบาสเกตบอล และมันก็ได้ผลมาก
ช่วงถัดมาคือการรับมือกับชื่อเสียง Britney เล่าห้วงเวลาที่กลายเป็นคนซึ่งทำอะไรก็เป็นข่าวทุกอย่าง พร้อมเป็นวัตถุดิบให้สื่อยุคนั้นขยี้ได้แม้แต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง เป็นสัญลักษณ์ในฝันของชายหนุ่ม (ในบทหนึ่ง Britney ใช้คำว่า ทุกคนสนใจแต่ว่าฉันไปทำนมมาหรือไม่) รวมถึงปาปารัสซีที่ตามติดชีวิตทุกฝีก้าวในยุคนั้น แต่ Britney ก็บอกเล่าการรับมือ การเล่นกับสื่อ ไปจนถึงเรื่องราวดีๆ ที่ได้เจอจากศิลปินหลายคนในเวลานั้น
ห้วงเวลาที่ยากลำบากคือการที่พ่อและคนรอบตัวเข้ามา Conservatorship ชีวิต หลังจากปัญหารุมเร้าทั้งการแพ้คดีดูแลลูกสองคน การแสดงออกต่อหน้าสื่อในภาพที่ดูสติหลุด ซึ่ง Britney บอกในหนังสือว่าคิดไตร่ตรองมาแล้วว่าหวังผลอะไร ทำให้ห้วงเวลานั้นงานทุกอย่างถูกผลิตออกมาแบบไร้ชีวิตชีวา จนกระทั่งเธอสามารถร้องขอต่อศาลให้ยกคำสั่งนี้สำเร็จ และได้ชีวิตรวมถึงทรัพย์สินกลับคืนมา ซึ่งตอนหนึ่ง Britney บอกว่าพลังของแฟนคลับในแคมเปญ #FreeBritney คือสิ่งที่เธอต้องขอบคุณทั้งชีวิต
นอกจากประเด็นตลอดช่วงชีวิตที่เล่ามุมซึ่งหลายคนอาจไม่รู้หรือคาดไม่ถึง (นี่คิดว่าก็รู้เยอะแล้ว ก็ยังมีที่ โฮ่…จริงเหรอ) Britney ยังใช้หนังสือนี้เล่าถึงมุมมองที่อุตสาหกรรมบันเทิง ในยุคที่เธอเติบโตมา treat กับศิลปินหญิง ศิลปินหญิงที่เติบโตมาตั้งแต่อายุ 16 จนเป็นวัยสาว ภาพลักษณ์ที่ถูกครอบเอาไว้ การเป็นชิ้นส่วนสำคัญให้สื่อนำมาขยี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายบทสัมผัสได้ถึงการอย่างนำเสนอจิตใจของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ต้องการแสดงอำนาจของตน และตั้งคำถามกับสิ่งที่เธอถูกสังคมกระทำมาตลอด (ซึ่งชื่อหนังสือก็บอกใบ้แล้ว)
มาถึงตรงนี้ก็อาจบอกประวัติตามกาลเวลาได้ ในยุคนั้น สื่อและผู้คนรับข้อมูลได้แบบไหน Britney ก็สามารถแจ้งเกิดและถูกกระทำได้จากกลไกในเวลานั้น ซึ่งอาจเทียบได้ยากมากว่ายุคนี้จะเป็นอย่างไร เพราะการรับรู้สื่อแตกต่างกันมาก สิ่งที่ Britney สื่อสารก็คือความรู้สึกไม่ยุติธรรมในหลายด้าน พร้อมกับบทสรุปว่าตอนนี้เธออยากทำอะไร เป็นอะไรต่อไป
หนังสือแยกย่อยเกือบ 50 บท แต่ละบทความยาวไม่มาก จึงไม่ได้ใช้พลังมากในการอ่าน เหมือนอ่านเรื่องเล่าเม้ามอยที่ Britney นำเสนอ แต่หลายบรรทัดถูกขัดเกลาให้ทรงพลังดีมาก
สิ่งที่สนุกในการอ่านหนังสือนี้คือเหตุการณ์หลายอย่างที่ Britney พูดถึงในหนังสือ ยังสามารถหาคลิปย้อนได้ใน YouTube ก็จะแปะส่วนที่น่าสนใจไว้แล้วกัน
บทสัมภาษณ์ใน Primetime with Diane Sawyer ปี 2003 เรื่องเล่าในหนังสือทำให้การดูสัมภาษณ์นี้ไม่เหมือนเดิมเลย
การแสดงเปิดตัว Circus ในรายการ Good Morning America